ศีล สมาธิ ปัญญา
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ศีลสมาธิปัญญานี้เป็นหลักปฏิบัติของผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา จะต้องมีศีลเป็นภาคพื้น และต้องมีสมาธิเพื่อทำจิตให้สงบตั้งมั่น และปฏิบัติพิจารณาสืบต่อทางปัญญาต่อไป
ในการปฏิบัติศีลนั้นอาศัย วิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้นจากความประพฤติที่เป็นภัยเป็นเวรนั้นๆ ดังเช่นศีล ๕ เป็นต้น ย่อมทำกายวาจาใจให้เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม พร้อมที่จะทำสมาธิ อันเป็นเครื่องอบรมจิตให้สงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย และสมาธินี้ก็ย่อมอุปการะศีลให้บริสุทธิ์ ตลอดถึงจิตใจ ทั้งเป็นบาทคือเป็นเท้าของปัญญา ด้วยน้อมจิตที่เป็นสมาธิคือที่สงบ พิจารณาขันธ์ ๕ ย่นลงเป็นนามรูป โดยความเป็นไตรลักษณ์
การงานทางปัญญา
การพิจารณาค้นคว้าทางปัญญานี้เป็นข้อสำคัญ ผู้ปฏิบัติธรรมไม่พึงหยุดอยู่แค่ศีล ให้ปฏิบัติสมาธิต่อ และก็ไม่พึงหยุดอยู่แค่สมาธิ แต่ว่าถ้าไม่มีสมาธิ ก็ยากที่จะปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ได้ และยากที่จะปฏิบัติทางปัญญาได้ จึงต้องทำจิตให้เป็นสมาธิ คือให้ตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐานทั้งหลาย อันเป็นฝ่ายสมถกรรมฐาน เพื่อให้จิตสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จิตที่สงบนี้แรง เป็นจิตที่ควรแก่การงานทางปัญญา คือที่พิจารณาทางปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจะคือความจริงของขันธ์ ๕ ย่อลงเป็นนามรูปกายใจนี้
เพื่อให้เห็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ และก็พิจารณาค้นคว้าสืบต่อถึงตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ จับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก หรือ อวิชา ตัณหา อุปาทาน อันเป็นฝ่ายกิเลสทั้งหลาย อันมีอวิชชาเป็นหัวหน้า ล้วนเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ และให้พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ก่อน ว่าจะดับทุกข์ก็ต้องดับตัณหาเป็นต้นเสียได้ หรือจะดับตัณหาเป็นต้นเสียได้ ก็จะต้องปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น ย่นย่อลงเป็นศีลสมาธิปัญญานั้นเอง
จิตที่เป็นสมาธิคือที่สงบตั้งมั่น ย่อมเป็นจิตควรแก่ปัญญา ที่จะมองเห็นสัจจะคือความจริง รวมเข้าก็ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ในเบื้องต้นก็ต้องอาศัยการปฏิบัติตามสัญญา คือความกำหนดจดจำ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ก่อน และน้อมมาพิจารณาตรวจตราดูที่กายใจอันนี้เอง อันเป็นที่ตั้งของอริยสัจจ์ทั้งหลาย ค่อยๆ ทำสัญญาให้เป็นตัวปัญญาขึ้นด้วยตนเองโดยลำดับ ดั่งนี้ จึงจะดับกิเลสดับกองทุกข์ได้
การปฏิบัติทำสมาธิ
ในการปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธินี้ ทางปฏิบัติก็อาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา อันเป็นองค์ของปฐมฌาน แต่ว่าปฐมฌานนั้นเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ในชั้นต้นก็เป็นปฐมฌานอันประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติสุข เอกัคคตา แต่ว่าในการปฏิบัติสมาธิตั้งแต่ในขั้นต้น ที่กล่าวได้ว่าเป็น บริกัมมสมาธิ สมาธิในบริกรรม คือการเริ่มปฏิบัติ และเริ่มได้สมาธิ เกือบจะแนบแน่นอันเรียก อุปจารสมาธิ จนถึง อัปปนาสมาธิ อันเป็นปฐมฌาน
ตั้งแต่เบื้องต้นมาดังกล่าวนี้ก็ต้องอาศัยวิตกวิจารเป็นต้นเป็นแนวปฏิบัติ กล่าวคือวิตกอันเป็นข้อที่ ๑ นั้น ก็ได้แก่การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิคือกรรมฐาน เช่นว่า เมื่อตั้งสติกำหนดพิจารณาในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือพิจารณากายก็ยกจิตขึ้นสู่กาย พิจารณาเวทนาก็ยกจิตขึ้นสู่เวทนา เมื่อพิจารณาจิตก็ยกจิตขึ้นสู่จิต เมื่อพิจารณาธรรมะก็ยกจิตขึ้นสู่ธรรมะ นี้คือวิตก ได้แก่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิคือกรรมฐาน หรือว่ายกจิตขึ้นกำหนดสมาธิกรรมฐาน หรือสมถกรรมฐาน
ดังเช่นในการยกจิตขึ้นสู่กาย ในหมวดกายก็มีหลายข้อ ในข้อแรกก็คืออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ยกจิตขึ้นสู่ลมหายใจเข้าออก คือกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้ลมเข้าออกเป็นที่ตั้งของจิต เป็นอารมณ์ของจิต หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ให้จิตอยู่ที่ลมหายใจ หรือให้ลมหายใจอยู่ที่จิต ดั่งนี้เรียกว่าวิตก
มาถึงข้อ ๒ วิจาร ก็ได้แก่คอยประคองจิตไว้ ในอารมณ์ของสมาธิคือในกรรมฐาน เช่นประคองจิตให้ตั้งอยู่ ในลมหายใจเข้า ในลมหายใจออก ติดต่อกันไป ดั่งนี้คือวิจาร คอยประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ดังกล่าว
แต่ในการปฏิบัติเบื้องต้น จิตยังดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายอยู่มาก จิตจึงมักจะตกจากกรรมฐาน ดิ้นรนไปในอารมณ์ตามใคร่ตามปรารถนา ก็ต้องอาศัยสติคือความระลึกได้ พร้อมทั้งสัมปชัญญะคือความรู้ตัว นำจิตมาจับตั้งไว้ในลมหายใจเข้าลมหายใจออกอีก
ในเบื้องต้นก็ต้องทำอยู่ดั่งนี้บ่อยๆ (เริ่ม ๑๙๘/๒) คือต้องมี วิตก นำจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน เช่นในลมหายใจเข้าออก ต้องมี วิจาร คอยประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ ไม่ให้หลบหลุดไป ต้องอาศัย อาตาปะ คือความเพียร เรียกว่าต้องมีความเพียรกันเต็มที่ ไม่ยอมหยุดเลิกพ่ายแพ้ต่อความดิ้นรนของจิตอันเป็นตัวกิเลส โดยที่มี สัมปชานะ ความรู้พร้อมคือตัวสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติ ดังที่ตรัสสอนไว้ว่า อาตาปี มีความเพียร สัมปชาโน มีความรู้พร้อมรู้ตัว สติมา มีสติดั่งนี้ โดยต้องคอยกำจัดคือสงบความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย หรือที่เรียกว่าความยินดีความยินร้ายต่างๆ ในโลก ไม่ให้ฉุดลากดึงจิตไปได้ ต้องมีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ คอยกำจัดความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ยินดียินร้ายดังกล่าวอยู่เนืองๆ ดั่งนี้ จิตก็จะค่อยสงบขึ้น ก็จะได้ปีติคือความอิ่มใจ
ปีติ ๕
อันปีตินั้นมี ๕ คือ ขุททกาปีติ ปีติเป็นส่วนน้อยอันทำให้ขนชันน้ำตาไหล ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ อันมีอาการให้รู้สึกเสียวแปลบปลาบเหมือนอย่างฟ้าแลบ โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ อันมีอาการซู่ซ่า เหมือนอย่างคลื่นกระทบฝั่ง แรงกว่าที่เสียวแปลบปลาบ อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน อันมีอาการให้ใจฟูขึ้น และให้กระทำ หรือเปล่งอุทาน เว้นจากเจตนาคือความจงใจ ท่านแสดงว่าอย่างแรงทำให้กายลอยขึ้นได้ และ ผรณาปีติ คือปีติซาบซ่าน อันปีติอย่างละเอียด
ปีติที่ได้ในเมื่อจิตเริ่มสงบโดยอาศัยวิตกวิจารดังแสดงมาแล้ว ก็ย่อมจะเป็นปีติส่วนน้อยที่ให้ขนชันน้ำตาไหล หรือขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ อันทำให้เสียวแปลบปลาบเหมือนอย่างกับฟ้าแลบ หรือว่าถึงโอกกันติกา ปีติเป็นพักๆ ที่ทำให้รู้สึกซู่ซ่าเหมือนอย่างคลื่นกระทบฝั่ง อันแรงกว่าเสียวแปลบปลาบ ปีติที่ได้ในชั้นแรกจึงมักจะเป็นปีติชนิดที่เป็นอย่างน้อยเป็นต้นดังที่กล่าวมา แล้วก็ได้สุข คือความสบายกาย ความสบายใจ
สุขเป็นที่ตั้งของสมาธิ
เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ย่อมจะทำให้ได้สมาธิคือความที่จิตตั้งมั่นมีอารมณ์เป็นอันเดียว แม้ในขั้นอุปจาระสมาธิ สมาธิที่เฉียดๆ จะแน่วแน่ ก็เพราะว่าสมาธินี้ย่อมมีสุขเป็นที่ตั้ง การปฏิบัติในการเริ่มต้นในขั้นวิตกวิจาร ยังไม่ได้สุข ยังไม่ได้ปีติ ก็ต้องใช้ความเพียรอย่างเต็มที่ ใช้สติ ใช้สัมปชัญญะอย่างเต็มที่ คอยกำจัดความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายยินดียินร้ายต่างๆ จนเมื่อได้ปีติขึ้นใจก็เริ่มเชื่องเข้าสงบเข้า และเมื่อได้ปีติก็ย่อมได้สุขสืบต่อกันไป ก็ทำให้ได้สมาธิ คือเอกัคคตาความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว กำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกได้ติดต่อกันไป แนบแน่นเข้ามา เรียกว่า จิตลง คือลงสู่ความสงบ ลงสู่สมาธิ
เพราะว่ามีความสุขอยู่ในความสงบ มีความสุขอยู่ในสมาธิ มีความสุขอยู่ในการกำหนดลมหายใจเข้าออก จึงสงบความดิ้นรน กวัดแกว่งกระสับกระส่าย ที่มีอยู่ในขั้นแรกเสียได้ ซึ่งในแรกนั้นยังไม่ได้สุข จิตจึงดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปหาสุข คือหาอารมณ์อื่นๆ ที่ดึงใจไป อันมีอาลัยคือความผูกพันใจอยู่ หรือมีสัญโญชน์คือเกาะเกี่ยวใจอยู่ ใจยังติดอยู่ในความสุขของสังโญชน์หรือของอารมณ์เหล่านั้น ตัวสังโญชน์หรืออารมณ์เหล่านั้นก็คอยดึงใจออกไป ใจยังไม่ได้สุขในสมาธิ
อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ
ต่อเมื่อได้ปีติได้สุขในสมาธิ ใจก็อยู่ตัว เพราะไม่ต้องไปหาความสุขที่อื่น ได้ความสุขจากความสงบ ได้ความสุขจากสมาธิแล้ว ดั่งนี้จิตก็เป็นเอกัคคตา กล่าวได้ว่าเข้าขั้นอุปจาระสมาธิ และเมื่อไม่หยุดความเพียรเพียงแค่นั้น ประกอบความเพียรต่อไป พร้อมทั้งมีสัมปชัญญะมีสติ คอยกำจัดความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายของใจ แม้อย่างละเอียดสืบต่อไป ก็จะนำไปสู่อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ทำให้ปรากฏองค์ คือวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิ วิจารประคองจิตอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ ปีติ สุข และเอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวกันอย่างเต็มที่ จึงเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นขั้นปฐมฌาน
การปฏิบัติในเบื้องต้นก็ต้องอาศัยองค์ของปฐมฌานนี้มาโดยลำดับ และเมื่อจิตได้สมาธิ แม้ในขั้นอุปจาระสมาธิ ก็เป็นจิตที่สงบ เป็นจิตที่ตั้งมั่น ควรแก่การงานทางปัญญา สามารถน้อมจิตที่สงบตั้งมั่นนี้ไปพิจารณาขันธ์ ๕ นามรูป โดยไตรลักษณ์ คือ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ตลอดจนถึงพิจารณาอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่กายใจอันนี้ต่อไปได้สะดวก เป็นการปฏิบัติทางปัญญาสืบต่อไป
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งในทำความสงบสืบต่อไป