วัด
พระอารามหลวง
14 วัด
วัดราษฎร์
421 วัด
สำนักสงฆ์
8 วัด
ที่พักสงฆ์
20 วัด
วัดร้าง
3 วัด
วัดทั้งหมด
466 วัด
ศาสนบุคคลไทย
พระภิกษุ
250 รูป
สามเณร
33 รูป
แม่ชี
9 รูป
ภิกษุณี
0 รูป
สามเณรี
0 รูป
ศิษย์วัด
0 คน
บุคคลทั่วไปชาย
5 คน
บุคคลทั่วไปหญิง
0 คน
ทั้งหมด
297 รูป/คน
ศาสนบุคคลต่างชาติ
พระภิกษุ
0 รูป
สามเณร
0 รูป
แม่ชี
0 รูป
ภิกษุณี
0 รูป
สามเณรี
0 รูป
ศิษย์วัด
0 คน
บุคคลทั่วไปชาย
0 คน
บุคคลทั่วไปหญิง
0 คน
ทั้งหมด
0 รูป/คน
สถิติสถานภาพพระภิกษุปัจจุบัน
พระบวชใหม่
211 รูป
ลาสิกขา
7 รูป
มรณภาพ
2 รูป
รายชื่อวัด
ที่สามารถเข้าระบบได้ล่าสุด
จ. ขอนแก่น
วันที่ 19-11-2567
จ. นนทบุรี
วันที่ 19-11-2567
จ. อุบลราชธานี
วันที่ 19-11-2567
จ. เลย
วันที่ 19-11-2567
จ. ศรีสะเกษ
วันที่ 19-11-2567
จ. อุบลราชธานี
วันที่ 19-11-2567
จ. เพชรบูรณ์
วันที่ 19-11-2567
จ. อุบลราชธานี
วันที่ 19-11-2567
จ. อ่างทอง
วันที่ 25-05-2567
จ. อุบลราชธานี
วันที่ 15-05-2567
การฝึกสมาธิ
ธรรมบรรยายของหลวงพ่อเจ้าคุณ พระราชปริยัตยากร
เรื่องการฝึกสมาธิ ๑
       วันนี้ถือว่าเป็นวันคำรบ ๔ ของการปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติผ่านมา ๓ ราตรี การปฏิบัติอยู่ ๓ ราตรีที่ผ่านมาก็เหมือนกันกับเราสำรวจว่า
ตั้งแต่เราบวชมาในพระพุทธศาสนานี้ ตั้งแต่วันเริ่มต้นถึงวันนี้ เรามีความบกพร่องอย่างไร ที่ผ่านมานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับกายและวาจาของเราสมบูรณ์แล้วหรือไม่ หรือขาดตกบกพร่องอยู่อย่างไร เราสำรวจ เมื่อสำรวจแล้วก็จะรู้ทันทีว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับกายและวาจาซึ่งถือว่าเป็นศีล มันบกพร่องอยู่ตรงนี้ๆ เมื่อเราสำรวจครบทุกอย่างทุกประการ ก็จะตั้งอกตั้งใจทำให้ความบกพร่องนั้นให้สมบูรณ์ เรียกว่า มานัตต์ คือขึ้นมานัตต์
การขึ้นมานัตต์ ก็คือการขัดเกลาหรือทำสิ่งที่มันบกพร่องไปนั้นให้ดีขึ้นให้สมบูรณ์ขึ้น ถือว่าเป็นการขัดเกลา คือขัดให้มันหมดมลทิน มลทินเหล่าใดที่มีในทางกาย มีทางวาจา เราก็จะได้ขัดมลทินนั้นให้หมดไป เพื่อว่าจะให้กาย วาจา ใจ บริสุทธิ์และสะอาด
ถ้าว่าผู้ใดเอาใจใส่ในการขัดในการเกลา กาย วาจา และใจของเราก็บริสุทธิ์มาก ถ้าใครขัดใครเกลาไม่สมบูรณ์ กายและวาจาของเราเปอร์เซ็นต์ที่จะบริสุทธิ์สะอาดก็มีน้อย แต่ก็ขออัพภานได้เหมือนกัน เพราะถ้าว่าตามหลักของศีลก็ถือว่าเราสามารถที่จะขออัพภานกันได้ แต่ว่าความบริสุทธิ์ของเรา ความสะอาดของเรานั้น ส่วนมากจะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร
เหมือนกันกับเราขัดแก้ว แก้วของเรามันขัดแล้ว มันก็สวยอยู่งามอยู่ แต่ยังไม่ถึงที่ ต้องขัดแล้วขัดอีก ขัดแล้วขัดอีก ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง แก้วของเราก็สะอาดงดงามน่าใช้น่าดู หรือว่าภาชนะต่างๆ เราเอาใจใส่ในการขัด การเกลา การถู ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ก็สะอาดน่าดูน่าใช้ ข้อนี้ฉันใด
การประพฤติวุฏฐานวิธีคือมานัตต์นี้ก็เหมือนกัน เมื่อใดเราพยายามขัด พยายามเกลากายและวาจาของเรา ขัดแล้วขัดอีก เกลาแล้วเกลาอีก ผลสุดท้ายเราก็จะเป็นผู้มีกายอันบริสุทธิ์ มีวาจาอันบริสุทธิ์ ไม่ต้องวิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน เป็นผู้องอาจกล้าหาญในท่ามกลางพุทธบริษัท
เหตุนั้น เราจึงใช้วิธีขัดเกลา การขัดเกลา หรือการขัดการเกลานี้ ในทางพระวินัยได้ทรงประทานไว้ ให้ใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่เป็นเวลา ๖ วัน หรือ ๖ ราตรี
เพราะเหตุไรจึงทำแบบนี้
เพราะว่าการขัดการเกลาของที่สกปรก หรือของไม่ดีไม่สะอาด ถ้าเป็นวัตถุอย่างมากก็จะใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่ ๖ วัน วัตถุนั้นก็สะอาดได้ น่าดูน่าชมได้ ข้อนี้ฉันใด กายวาจาของเราก็เหมือนกัน เราใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่เป็นเวลา ๖ วัน หรือ ๖ ราตรี ก็ถือว่ากายของเราบริสุทธิ์ วาจาของเราบริสุทธิ์ สมควรแก่อัพภานกรรม
เหตุนั้น ท่านทั้งหลายผู้มีความมุ่งหวังที่จะทำให้กายและวาจาของเราบริสุทธิ์ ก็พยายามเอาจิตเอาใจใส่ ในการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์
คือการเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือว่าอยากเดินหนอๆ กำหนดอาการพอง อาการยุบ พองหนอ ยุบหนอ กำหนดเวทนา สุขหนอ ทุกข์หนอ เฉยหนอ กำหนดจิตว่า คิดหนอๆ ตลอดทั้งกำหนดทางตา เห็นหนอ ได้ยินหนอ กลิ่นหนอ รสหนอ สัมผัสหนอ ถูกหนอ เจ็บหนอ อะไรทำนองนี้ เพื่อเป็นการขัด อันนี้นะเป็นเครื่องขัด เราใช้อันนี้ เราใช้บทกัมมัฏฐานนี้แหละขัด
เอาอะไรไปขัด
เอาสติไปขัด
ไปขัดที่ไหน
ไปขัดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ หรือไปขัดที่อาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการยืน เวทนา ความคิดของเรา นี่คือเอาสติไปขัด มิใช่ว่าเอาอย่างอื่นไปขัด เอาสติของเราไปขัด
เพราะเหตุไรจึงขัด
เพราะว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานั้น เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สกปรก
สกปรกเพราะอะไร
สกปรกเพราะโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา สภาวะดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นสภาวะที่ทำให้กายวาจาของเราสกปรก เป็นสภาวะที่ทำให้เกิดความลามก เพราะฉะนั้นเราจึงขัดจึงเกลา
เมื่อใดเราขัดแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดถึงใจของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส เหตุนั้น การขัดการเกลาของเราจึงจำเป็นต้องมีกุศโลบาย รู้วิธีขัด รู้วิธีเกลา คือขัดด้วยสติ ขัดด้วยสัมปชัญญะ ขัดด้วยปัญญา เมื่อเราทำได้อย่างนี้แล้ว กาย วาจา และจิตใจของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส สมควรแก่การอัพภานกรรม
เพราะฉะนั้น หลวงพ่อขอพูดเพียงย่อๆ ขอให้ท่านไปคิดเอาไปพิจารณาเอา
ตามปกติ วันขึ้นมานัตต์ทุกปีที่ผ่านมา หรือทุกจุดที่มีการปฏิบัติธรรม จะมีการฝึกสมาธิ คือถึงวันนี้จะมีการฝึกสมาธิ ที่ไหนๆ ก็ฝึกสมาธิอย่างนี้เป็นร่ำไป
เพราะเหตุไรจึงฝึกสมาธิ
เพราะเราต่างก็ต้องการให้ความคิดของเรามีระบบ การฝึกสมาธินี้ คือการที่ทำให้จิตใจของเรามีระบบ คือทำให้ความคิดของเรามีระบบ พวกเราส่วนมากจะเป็นพระ เป็นเณร ปะขาว แม่ชี ญาติโยมชาวบ้าน อุบาสก อุบาสิกา ส่วนมากความคิดของพวกเรานั้น ไม่มีระบบ คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไป อะไรจิปาถะ ร้อยแปดพันประการ
เพราะความคิดที่ไม่มีระบบนี่แหละ จึงทำให้คนเรานั้นเสียสติได้ เป็นบ้าได้ คนที่มีความคิดไม่มีระบบ บางทีหนักๆ เข้าทานอาหารไม่เอร็ดอร่อย นอนก็นอนไม่หลับ หลับก็ครึ่งๆ กลางๆ หลับๆ ตื่นๆ สิ่งที่ไม่ควรคิดก็คิด สิ่งที่คิดอยู่แล้วก็คิดมากขึ้นไป เพราะว่าคิดไม่มีระบบ
สาเหตุที่พวกเราทั้งหลายใช้ความคิดที่ไม่มีระบบนี่แหละ จึงมีการฝึกสมาธิ คือฝึกให้ความคิดของเรามีระบบ ถ้าความคิดของเรามีระบบแล้ว เราอยากคิดก็คิดได้ เลิกคิดก็เลิกคิดได้ ไม่เป็นโรคประสาท ไม่กลุ้มใจ เพราะฉะนั้นจึงมีการฝึกสมาธิ
การฝึกสมาธิ ก็คือการรวมความคิดหลายๆ ความคิดให้เหลือความคิดเดียว คือจิตใจของเราตามปกตินั้นไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันจะคิดร้อยแปดพันประการ คิดไปเรื่อยเปื่อย บางทีมันก็คิดไปเรื่องรูป คิดไปเรื่องเสียง คิดไปเรื่องกลิ่น คิดไปในเรื่องรส คิดไปในเรื่องสัมผัส คือมันคิดไปตามอารมณ์ที่มากระทบ
อารมณ์ใดๆ ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตของเราก็วิ่งไปตามกระแสของอารมณ์ เมื่อจิตของเราวิ่งไปตามกระแสของอารมณ์แล้ว ความคิดของเราก็ไม่มีระบบ คิดมาก บางทีก็เป็นประสาท เป็นบ้า เพราะเหตุนั้นเราจึงฝึกสมาธิ คือการรวมกระแสจิตหลายๆ ความคิดนั้นให้เหลือความคิดเดียว
จิตที่ฝึกดีแล้ว ฝึกฝนอบรมดีแล้ว ย่อมเป็นจิตที่มีอำนาจมีพลัง มีอานุภาพมีสมรรถนะสูง ก็เหมือนกันกับท่อนไม้หรือท่อนกล้วย ถ้าเราปล่อยให้ไหลไปตามกระแสน้ำ มันก็ไหลได้อยู่ แต่ว่ามันไม่มีกำลัง การลอยของท่อนไม้ท่อนกล้วยนั้นมันก็เอื่อยๆ ไป มันไม่เร็ว
แต่ถ้าเราปรับที่ที่จะต้องให้มันลงแล้ว เราปรับได้ที่ ท่อนไม้ก็ดีท่อนกล้วยก็ดี เราปรับให้ไหลลงตรงนี้ๆ น้ำมากๆ ที่เอ่อล้นไป ให้มันไหลลงที่เดียว เมื่อมันลงที่เดียว ต้นกล้วยมันก็ไหลเร็วขึ้น ท่อนไม้ก็ไหลเร็วขึ้น ข้อนี้ฉันใด
เมื่อเราใช้สติสัมปชัญญะ ใช้ปัญญาฝึกจิตฝึกใจของเราให้มันเหลือความคิดเดียว ให้จิตของเรามันไหลไปทางเดียว ไม่ให้มันไหลไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส ตามสัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อจิตของเรามันไหลไปแนวเดียวแล้ว ก็มีพลัง มีอานุภาพ และมีสมรรถนะสูง
อุปมาเหมือนกันกับเราปรับไฟฉาย ถ้าเรามีไฟฉายอยู่นะ หากว่าเราไม่ปรับแสง มันก็สว่างอยู่เหมือนกัน แต่มันสว่างไม่มาก แต่ถ้าเราปรับแสงให้ดีแล้ว โดยเราปรับปุ่มวิทยาศาสตร์ ปรับเข้าไปๆ ผลสุดท้ายแสงสว่างนั้นก็รวมแสงอยู่ในจุดเดียวกันเข้า เราสามารถรวมแสงให้เหลือจุดเดียว เมื่อเราสามารถรวมแสงให้อยู่ในจุดเดียว เหมือนกันกับแสงเลเซอร์นะ แสงเลเซอร์ก็คือการรวมแสงทั้งหลายทั้งปวงให้มันเหลือจุดเดียว เมื่อแสงเหลืออยู่จุดเดียว ก็สามารถไปผ่าตัดนิ่ว ไปผ่าตัดโน่นไปผ่าตัดนี่ ไม่ต้องใช้มีดในการผ่าตัด เอาแสงที่เขารวมแล้วไปผ่าตัด ก็สามารถทำลายนิ่ว ไต ทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำลายสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป ข้อนี้ฉันใด
ใจของเราก็เหมือนกัน เมื่อเรารวมกระแสจิตของเราจนเหลือความคิดเดียว ความคิดนั้นก็เป็นความคิดที่มีอานุภาพ มีพลัง มีสมรรถนะสูง สามารถที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมได้
เหมือนกันกับพวกเราทั้งหลายได้เล่าเรียนมา เรื่อง อภิญญาจิต เรื่อง ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้ จุตูปปาตญาณ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไปหมดไปจากขันธสันดาน หรือว่า อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ ทิพพโสตอภิญญา มีหูทิพย์ ทิพพจักขุอภิญญา มีตาทิพย์ เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของผู้อื่น หรือปฏิสัมภิทา ๔ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา
เพราะเหตุใดเรื่องอย่างนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะเหตุไรคนเราจึงระลึกชาติแต่หนหลังได้
เพราะเหตุไรคนทั้งหลายจึงรู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นได้ ตลอดถึงของตนเอง
เพราะเหตุไรคนเราจึงมีตาทิพย์ มีหูทิพย์ รู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้
ก็เพราะว่าพวกเราใช้กรรมวิธีปรับความคิดของเราให้เหลือความคิดเดียว ดังที่พวกเราทั้งหลายได้เคยศึกษาเล่าเรียนมา
ระบบการปรับจิตของเราให้เหลือความคิดเดียวนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานไว้ถึง ๘ ประการ เรียกว่า สมาบัติ ๘ คือท่านให้ปรับด้วยอำนาจของปฐมฌาน ปรับด้วยอำนาจของทุติยฌาน ปรับด้วยอำนาจของตติยฌาน ปรับด้วยอำนาจของจตุตถฌาน คือใช้สมาธิเป็นขั้นๆ คือปรับเป็นขั้นๆ ต่อๆ กันขึ้นไป
เมื่อปรับขั้นรูปธรรมแล้วยังไม่พอ ยังปรับขั้นนามธรรมด้วย ดังที่เราเคยเรียนมาคือ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มาปรับจนทำให้ร่างกายทั้งหลายนั้นมีกำลัง มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง
เมื่อสามารถรวมกระแสจิตได้ตามหลักทั้ง ๘ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จิตของเราก็จะมีพลัง มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง สามารถทำให้เกิดอภิญญาจิต ระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา
ก็เพราะอำนาจจิตใจที่ฝึกฝนอบรมแล้ว จึงมีพลัง มีอานุภาพ สามารถทำให้เกิดอภิญญาจิต ดังที่หลวงพ่อได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คนที่คิดมีระบบดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำจิตใจของตนให้เป็นสมาธิ หนักแน่น ทำให้เกิดอภิญญาจิตดังกล่าวมาแล้ว
ในขั้นเบื้องต้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงใช้วิธีรวมกระแสจิตมาแล้ว ได้ทรงฝึกมาก่อนแล้ว จนได้เกิดวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา ดังกล่าวมาแล้ว กำลังของสมาธินี้ มิใช่ว่าเราจะเอาไปใช้เพียงแต่ทำให้เกิดอภิญญาจิตดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็หาไม่
เมื่อใดเรารู้หลักการวิธีการในการรวมกระแสจิตของตนให้สมบูรณ์จนได้อภิญญาจิตแล้ว เราก็สามารถนำจิตที่รวมนี้ไปใช้ในการที่จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ที่เรียกว่า การเจริญวิปัสสนา
การเจริญวิปัสสนานั้นก็คือ เบื้องต้นเรารวมกระแสจิตจนมีพลังจนมีอำนาจ เมื่อรวมกระแสจิตสมบูรณ์แล้ว กระแสจิตอันนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา
เมื่อวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ปัญญาขั้นนี้ก็จะทำหน้าที่ทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน ตามกำลังที่เราได้ฝึกจิตมาดีแล้ว
เพราะเหตุอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม หลวงพ่อจึงชี้แนะให้มีการฝึกสมาธิ สมาธิที่ฝึกนั้น ก็ต้องการประโยชน์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล สำหรับการฝึกสมาธิ ทุกสิ่งทุกอย่างท่านทั้งหลายก็ศึกษามาแล้ว
สำหรับท่านผู้เจริญพระกัมมัฏฐานใหม่ๆ เราต้องการการกำหนด เรากำหนดเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างที่กำหนดผ่านมาแล้วนั้น ครูบาอาจารย์ให้กำหนดอาการพอง อาการยุบ ขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ท่านทั้งหลายเอาบททั้งหลายเหล่านี้แหละนำไปฝึกสมาธิ ไปทำจิตให้เป็นสมาธิ
หากว่าท่านต้องการให้เกิดสมาธิเร็ว ให้เกิดฌานเร็ว ท่านทั้งหลายก็เอาจิตของเรานี้ กำหนดที่จิตของเรา ตั้งสติไว้ที่ใต้ราวนมข้างซ้ายต่ำลงไปสัก ๓ นิ้ว หรือ ๒ นิ้ว กำหนด คิดหนอๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเราเอาจิตไปบริกรรมอย่างนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิเร็วและก็ได้ฌานเร็ว
สำหรับผู้ที่เคยเข้าสมาธิมาแล้ว เข้าสมาธิ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง เป็นต้น หากว่าท่านทั้งหลายต้องการที่จะอุ่นเครื่องให้จิตใจของเรามีระบบกว่าที่เป็นอยู่นี้ ท่านทั้งหลายจะนั่งสมาธิตามที่ท่านทั้งหลายเคยปฏิบัติมาก็ได้ แต่ต้องให้ผ่านครูฝึกคือแม่ชีเสียก่อน การปฏิบัติในครั้งนี้ หลวงพ่อได้มอบให้คุณแม่สว่าง และคุณแม่ชีเนียม และแม่ชีผู้ช่วยได้ช่วยดูแล
แต่เจตนาจริงๆ ของหลวงพ่อนั้น ต้องการอยากให้ท่านเจริญวิปัสสนา เพราะท่านทั้งหลายได้เคยเจริญสมาธิมาแล้ว เคยเข้าสมาธิมาแล้ว เคยฝึกมาแล้ว ต้องการอยากให้การปฏิบัติมันก้าวหน้าไปกว่านี้ ไม่อยากให้นั่งอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นของไม่ดี เป็นของดี แต่ว่าของดีที่ได้อยู่ในขณะนี้ถือว่าเป็นของดีที่ยังประกันไม่ได้ ยังรับประกันไม่ได้ว่า ของดีที่มีอยู่ในขณะนี้ ที่ได้อยู่นี้ เราจะสามารถนำไปใช้จนถึงโลกุตตระหรือไม่
บางทีสมาธิของเราไม่ดี สมาธิของเราไม่สมบูรณ์ กิเลสตัณหามันยังมีอยู่ ยังไม่หมด (ผู้ได้) สมาธิขั้นนี้ ก็ยังจะไปเกิดอบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้ (ผู้ได้) สมาธิขั้นนี้ ยังสามารถที่จะฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้ และยังสามารถที่จะทำบาปทำกรรมอื่นๆ อีกได้
เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย เมื่อรู้แล้วว่าเรามีสมาธิ ก็รักษาสมาธิไว้ อย่าให้เสื่อม ใช้ให้เป็นประโยชน์เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่อย่าไปใช้ทางทำลายผู้อื่น อย่าไปใช้ในทางสะกดลาภ เมื่อสมาธิที่เรามีอยู่นี้ แม้ว่าสมาธินี้มีอำนาจมีอานุภาพ จนสามารถระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่นได้ก็จริงอยู่ ท่านทั้งหลาย อภิญญาจิตนี้ยังไม่สามารถปิดประตูอบายภูมิได้
เหตุนั้น ถ้าหากว่าเป็นไปได้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ วิธีปฏิบัติก็ใช้สมาธิหรือใช้ฌานทั้งหลายที่ท่านทั้งหลายได้อยู่นั่นแหละ เรามากำหนดบทพระกัมมัฏฐานตามที่ครูบาอาจารย์สอนให้ เช่นว่า กำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่นแหละ แล้วก็ตั้งสติกำหนดพองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ ตามที่เคยปฏิบัติมา จนกว่าจะนั่งหลับไป หรือว่านอนหลับไป หรือว่าจนกว่าจะส่งจิตส่งใจให้เกิดความรู้สึก
หากว่ามันอยากนอนก็ปล่อยให้มันนอนไป หน้าที่ของเราพยายามจำให้ได้ว่า เราจะนอนหลับไปตอนไหน หรือว่ามันจะขาดความรู้สึกไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ ตอนหายใจเข้า หรือหายใจออก ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามจำสภาวะให้ได้ ในขณะที่เราทำกัมมัฏฐานอยู่นี้ บางทีมันง่วง อยากนอน ก็ปล่อยให้นอนไป แต่ว่าพยายามจำให้ได้ว่า เราจะนอนหลับไปหรือนั่งหลับไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือท้องยุบ ขอให้จำให้ได้
หากว่าเราทำได้อย่างนี้ ท่านทั้งหลาย จิตใจของเราก็จะเกิดความสุขขึ้นมาแทนที่ มีการสว่าง สงบ จิตใจร่าเริงเบิกบาน โลภ โกรธ หลง ก็จะเบาบางลงไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ก็จะเบาบางไป จิตใจของเราก็จะเกิดความสะอาด สว่าง สงบเย็นขึ้นมา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก็ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง การฝึกสมาธิโดยย่อ มาบรรยายถวายความรู้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจบารมีธรรม ขอให้ท่านทั้งหลายได้อยู่ในบวรพระพุทธศาสนาเป็นนิตย์ สถิตมั่นในพระสัทธรรม นำตนให้พ้นจากทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพาน ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
ผู้แต่ง :
พระราชปริยัตยากร
ที่อยู่ :
ต.หนองปลาไหล อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี
จำนวนเข้าดู :
918
ปรับปรุงล่าสุด :
24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 11:01:01
ข้อมูลเมื่อ :
24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 11:01:01