พระอุโบสถวัดแก้วพิจิตร
อุโบสถปัจจุบัน ก่อสร้างบนที่เดิม ขนาดอาคารจำนวน 5 ห้อง กว้าง 17 เมตร ยาว 21.30 เมตร มีเฉลียงรอบ หลังคามุงกระเบื้อง มีหลังคามุขประเจิด และหลังคาเฉลียงรอบ 2 ชั้น หน้าบันเป็นปูนปั้นเขียนสี เป็นภาพวิมานพระอินทร์กลางลายพันธ์พฤกษา ขอบล่างของหน้าบันเป็นลายกระจังลายสาหร่ายรวงผึ้ง เสาหน้ามุขประเจิดเป็นลายปูนปั้นรูปมังกรข้างละ 1 ตัว ผนังพระอุโบสถ ฉาบปูนเรียบที่ซุ้มประตูหน้าต่างทำเป็นลายก้านขด ระหว่างประตูเข้าด้านหน้าและด้านหลังประดับด้วยเสานางเรียง ทำเป็นลายเซาะร่องแบบกรีก หัวเสาแบบไอโอนิกเรียงสองแถวขนานกันไปตามความยาวของอุโบสถ กรอบประตูและหน้าต่างเป็นยอดแหลมแบบศิลปะเปอร์เซีย เหนือกรอบหน้าต่างประดับลายไม้ฉลุ ทั้งบานประตูและหน้าต่างเขียนภาพเทวดา ลงรักปิดทอง ปูนปั้นเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ผนังตอนบนใต้ชายคาเป็นภาพ จิตรกรรมแบบตะวันตก เป็นลายเครื่องแขวน มีภาพเหมือนบุคคลหญิงชายชาวต่างประเทศครึ่งตัวอยู่ในครึ่งวงกลม นับเป็นอุโบสถที่แปลกไปจากวัดอื่น ๆ
รอบพระอุโบสถ มีซุ้มเสมาและกำแพงแก้วรูปสี่เหลี่ยม ล้อมรอบ ผนังกำแพงเป็น ลายดอกไม้ในวงกลมหัวเสากำแพงตั้งกระถางต้นไม้ กึ่งกลางระหว่างกำแพงแก้วแต่ละด้านมีประตูทางเข้าทำเป็นซุ้มยอดเจดีย์แบบศิลปะเขมร มีซุ้มใบเสมาทรงมณฑปประดิษฐานอยู่ทั้ง 8 ทิศ ยอดซุ้มประดับลายปูนปั้นรูปหน้ากาก ดอกไม้ และนาฬิกา ซึ่งรูปนาฬิกานั้น นับได้ว่าสร้างความสงสัยให้แก่ผู้พบเห็นได้ทุกครั้ง เพราะจะเป็นเวลา 11.45 น.ในทุกด้าน เป็นปริศนาธรรม หมายถึง ความไม่เที่ยง
ที่ผนังภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนติดอยู่ที่ผนังด้านตะวันตก พระพุทธรูปองค์นี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รวบรวมชิ้นส่วนของพระประธานในโบสถ์เดิมมาดัดแปลงขึ้นใหม่ ส่วนพระประธานองค์ใหม่เป็นพระพุทธรูปนั่งทำปางลักษณะค่อนข้างแปลก เรียกว่า “ปางอภัยทาน” ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดบนแผ่นผ้าเกี่ยวกับเรื่องราวในพระพุทธ ศาสนา เช่น ทศชาติชาดก มารผจญ วาดโดยช่างหลวงในรัชกาลที่ 6 พระอุโบสถนี้ได้รับการผูกพัทธสีมา เมื่อปีพ.ศ. 2464
โดย :
ที่อยู่ :
ต.หน้าเมือง อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี
จำนวนเข้าดู :
1011
ปรับปรุงล่าสุด :
26 มิถุนายน พ.ศ. 2563 00:56:32
ข้อมูลเมื่อ :
26 มิถุนายน พ.ศ. 2563 00:56:32