๑. ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเพชรบุรี แห่งที่ ๑๕ วัดลิ้นช้าง ได้รับการจัดตั้งตามมติ มส. ครั้งที่ ๒/๒๕๕๑ สังกัดมหานิกาย
ตั้งอยู่บ้านลิ้นช้าง หมู่ที่ ๓ ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี รหัสไปรษณีย์ ๗๖๑๖๐
โทรศัพท์ ๐๘-๘๔๕๖-๗๕๑๓, ๐๘-๙๘๘๒-๓๘๐๔
นามเจ้าสำนัก พระครูสุนทรวัชรการ ฉายา อพโล นามเดิม อำพล วณิชย์ธิติกาล อายุ ๕๐ พรรษา ๒๔
วิทยฐานะ นักธรรมเอก/ปริญญาโท (พธ.ม.) ตำแหน่งเจ้าคณะปกครองสงฆ์ เจ้าคณะตำบลหนองหญ้าปล้อง เขต ๒
ได้รับการจัดตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๑ เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น ปีพุทธศักราช ๒๕๕๔
๒. จำนวนพระวิปัสสนาจารย์ ๓ รูป
๒.๑ ชื่อ พระครูสุนทรวัชรการ ฉายา อพโล อายุ ๕๐ พรรษา ๒๔ วิทยฐานะ นักธรรมเอก/ปริญญาโท (พธ.ม.)
๒.๒ ชื่อ พระอาจารย์สุทัน ฉายา ทันฺตจิตฺโต อายุ ๖๘ พรรษา ๒๔ วิทยฐานะ นักธรรมโท/ปริญญาตรี
๒.๓ ชื่อ พระใบฎีกานาวาเรศ ฉายา ชินวโร อายุ ๔๐ พรรษา ๑๑ วิทยฐานะ นักธรรมเอก/ปริญญาตรี (วท.บ.)
๓. แนวการสอน/ปฏิบัติกัมมัฏฐาน
แบบบริกรรม สัมมา - อรหัง
วิชชาธรรมกาย พระเดชพระคุณ พระมงคลเทพมุนี
หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
๔. สภาพสัปปายสถาน
เนื้อที่ ๔๒ ไร่ ๒ งาน ๓ ตารางวา ศาลาปฏิบัติธรรม ๓ หลัง
อาคารที่พักชาย ๑ หลัง/หญิง ๒ หลัง
สามารถรับรองผู้ปฏิบัติธรรมได้ ๑๐๐ คน/ครั้ง
๕. จำนวนพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมกิจกรรม
- สรุปจำนวนพุทธศาสนิกชนผู้มาปฏิบัติธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ จำนวน ๖,๒๒๑ คน
- จำนวนพุทธศาสนิกชนผู้มาปฏิบัติธรรมในไตรมาส ๑ (๑ ม.ค. ๕๙–๓๑ มี.ค. ๕๙) จำนวน ๑,๕๐๘ คน
- จำนวนพุทธศาสนิกชนผู้มาปฏิบัติธรรมในไตรมาส ๒ (๑ เม.ย. ๕๙–๓๐ มิ.ย. ๕๙) จำนวน ๙๙๗ คน
- จำนวนพุทธศาสนิกชนผู้มาปฏิบัติธรรมในไตรมาส ๓ (๑ ก.ค. ๕๙–๓๐ ก.ย. ๕๙) จำนวน ๑,๑๖๒ คน
- จำนวนพุทธศาสนิกชนผู้มาปฏิบัติธรรมในไตรมาส ๔ (๑ ต.ค. ๕๙–๓๑ ธ.ค. ๕๙) จำนวน ๒,๕๕๔ คน
หมวดที่ ๑ บริเวณสำนัก อาคารที่พัก ศาลาปฏิบัติธรรม
และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน
วัดลิ้นช้าง ได้รับตั้งให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเพชรบุรี แห่งที่ ๑๕ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๑ สภาพภูมิประเทศเป็นป่าเบญจพรรณ อยู่ในแนวเทือกเขาตะนาวศรี รอยต่อติดกับประเทศพม่า ประชากรที่อาศัยอยู่รอบบริเวณวัดเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ข้าวไว้บริโภคเอง ปลูกพริกกะเหรี่ยงเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก มีวัฒนธรรม และประเพณีเป็นของตนเอง เช่น ประเพณีเวียนศาลา ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ประเพณีกินข้าวห่อ เป็นต้น ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย รักสงบ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีการเอาแรง ใช้แรงปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ซึ่งในขณะนี้ทางสำนัก กำลังดำเนินการก่อสร้าง ศูนย์วัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านลิ้นช้าง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง หมู่บ้านลิ้นช้าง ยังเป็นทางผ่านเข้าสู่สถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอหนองหญ้าปล้องด้วย มีน้ำตกแม่กระดังลา ซึ่งอยู่ห่างจากวัดลิ้นช้างเพียง ๙ กม. และศูนย์การท่องเที่ยวพุน้ำร้อน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดลิ้นช้างเพียง ๖ กม. เท่านั้น เป็นหมู่บ้านธงขาว ปลอดยาเสพติด สภาพทั่วไปในสำนัก ร่มรื่นอากาศบริสุทธิ์ สุขสดชื่น มีต้นไม้ยืนต้นมาก ประมาณร้อยละ ๘๐ เป็นไม้ที่เติบโตขึ้นเองในพื้นที่นั้น ร้อยละ ๒๐ ทางสำนักหาพันธ์ไม้มาปลูกเสริม เพื่อรักษาพื้นที่ให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ต้นไม้จึงไม่เป็นแถวเป็นแนว มีขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างดูแล้วรู้สึกเหมือนกับว่าอยู่ท่ามกลางป่าที่เป็นธรรมชาติจริงๆ สงบเย็นเพราะตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ห่างจากเขตหมู่บ้านพอสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม มีสัตว์ป่านานาพันธุ์ได้มาอาศัยเป็นที่พึ่งพิงให้อยู่รอดปลอดภัย และยังมีไม้ผลน้อยใหญ่ซึ่งยังค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ไว้เป็นอาหารเพื่อประทังชีวิตให้มีความสุข จึงมีเสียงนกนานาชนิดขับกล่อมร้องเพลง เสียงกระรอก กระแต กระจ้อนที่วิ่งเล่นกันขวักไขว่บนต้นไม้ เสียงไก่ป่าที่ยังขับขานอยู่บ้างในช่วงเช้าตรู่ และยังมีกิ้งก่าหลากหลายสี โอกาสดีๆ อาจได้เห็นกิ้งก่าบินได้อีกด้วยสำหรับอาคารที่พักของผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ในกรณีที่ผู้เข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรมมีจำนวนมากก็ใช้ศาลาปฏิบัติธรรมเป็นเรือนนอน โดยแยกชาย/หญิง ชัดเจน ในกรณีที่ผู้เข้าอบรมปฏิบัติธรรมมีจำนวนน้อยก็มีอาคารเรือนนอนแยกนอนตากหาก โดยแยกชาย/หญิง ชัดเจนเช่นกัน ซึ่งทางสำนักมีนโยบายในการปลูกสร้างสิ่งๆต่างให้น้อยที่สุด แต่ใช้ประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างนั้นให้มากที่สุด โดยคำนึงถึงพื้นที่ในการก่อสร้างให้เสียต้นไม้น้อย อิงธรรมชาติให้มาก ที่นี่จึงใช้ศาลาปฏิบัติธรรมเป็นเรือนนอนด้วย สร้างสิ่งเดียวแต่ใช้ประโยชน์คุ้มค่า สำหรับห้องน้ำ และห้องอาบน้ำนั้นก็แยกชายหญิงชัดเจน แต่ก็จะดูจำนวนผู้เข้าอบรมปฏิบัติธรรมด้วยว่า มีสัดส่วนผู้หญิง/ผู้ชายมากน้อยกว่ากันอย่างไร แล้วจึงจัดสรรปันส่วนตามจำนวนนั้นๆ โดยแยกชายหญิงไว้ชัดเจน ห้องน้ำก็เป็นห้องอาบน้ำได้ด้วย มีอาคารอาบน้ำรวมผู้ชาย ใช้สำหรับในกรณีที่ผู้ปฏิบัติธรรม มีเป็นจำนวนมาก ห้องอาบน้ำอาจไม่เพียงพอ การก่อสร้างจะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย และการบำรุงดูแลรักษาเป็นสำคัญ ถ้าสร้างให้มากจนเกินไป ก็จะดูแลทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง มีเท่าที่พอใช้จำเป็น ปรับใช้แก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ ยึดหลักประหยัดปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับผู้เข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรม สำหรับระบบไฟฟ้า ทางสำนักก็ได้ดำเนินการขอการไฟฟ้าฯให้ติดตั้งหม้อแปลงเฉพาะ ใช้สำหรับที่สำนักโดยตรง เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอ หากเกิดไฟฟ้าดับ ทางสำนักก็ยังมีเครื่องปั่นไฟไว้ใช้สำรองทั้งระบบอีกด้วย สำหรับระบบประปานั้นใช้น้ำบาดาลจากบ่อที่วัดเอง ปั๊มขึ้นสำรองไว้ที่แทงค์สูง และแทงค์นอน ไว้เป็นน้ำใช้ซึ่งเพียงพอต่อผู้เข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรม สำหรับน้ำบริโภคนั้น ทางสำนักมีน้ำฝนใสสะอาดตกลงมาจากฟ้า ซึ่งผ่านการกรองอย่างดีไว้บริโภคเองเพียงพอปีต่อปี สำหรับผู้เข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรมนั้น ได้จัดหาน้ำดื่มที่ใช้สำหรับบริโภคทั่วไปตามท้องตลาดมาบริการให้ไว้ซึ่งเพียงพอต่อผู้เข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรม และก็ยังติดตั้งเครื่องกรองน้ำสำหรับบริโภคที่ได้มาตรฐานไว้สำรองใช้อีกด้วย
อาคารเสนาสนะสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเพชรบุรี แห่งที่ ๑๕
- อุโบสถแบบประหยัดตามกรมศาสนา สีขาวบริสุทธิ์ งดงามแบบเรียบง่าย สะดวกต่อการบำรุงรักษา มากด้วยประโยชน์ใช้สอย คุ้มค่ามากที่สุดต่อศรัทธาในจิตใจ เป็นพื้นที่สำหรับปฏิบัติสังฆกรรม และปฏิบัติธรรมด้วย ไม่ได้ปิดล๊อคกุญแจ เปิดตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ไว้สำหรับปฏิบัติธรรมเป็นกลุ่มเล็กๆ สะดวกต่อการได้ยินเสียงธรรม สงบเย็นไม่อึดอัดสบายๆ ในการปฏิบัติธรรม
- ศาลาเดชคุณากร เป็นศาลาการเปรียญหลังใหญ่ ๒ ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ เป็นพื้นที่สำหรับทำวัตรสวดมนต์ เจริญภาวนา เป็นที่อบรมปฏิบัติธรรมสำหรับผู้ที่มากลุ่มใหญ่จำนวนมาก และถูกใช้เป็นเรือนนอนด้วย
- ศาลาโรงทานพระครูภาวนาวิริยาจารย์ ชาตะกาล ๑๐๐ ปี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เปิดโล่ง เป็นหอฉัน เป็นพื้นที่ทำครัว เป็นที่ทานอาหารของผู้ที่เข้าร่วมอบรมปฏิบัติธรรม บางครั้งยังแปรเปลี่ยนเป็นสถานที่อบรมปฏิบัติธรรมได้อีกด้วย
- ศาลาลานอเนกประสงค์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเปิดโล่ง เป็นสถานที่ตั้งโต๊ะรับประทานอาหารของผู้ที่เข้าร่วมอบรมปฏิบัติธรรม
- หอปฏิบัติธรรมดิน “ธรรมสภา มงคลภาวนาวัชรการ” เป็นอาคารดินที่กล่าวกันว่าใหญ่ที่สุดในเขตภาคกลาง ประหยัด สร้างกำแพงด้วยดินทั้งหลัง หลังคากระเบื้อง โครงหลังคาเป็นเหล็ก พื้นเป็นคอนกรีต เพื่อให้มีความแข็งแรง มีอายุการใช้ให้ยาวนานยิ่งขึ้น สร้างจากความสามัคคีของผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรม ณ วัดลิ้นช้างแห่งนี้ เป็นโครงการหนึ่งที่ทางสำนักจัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่ธรรมะ โดยการดึงมวลชนเข้ามาร่วมกันสร้างหอปฏิบัติธรรมดินในวัด ซึ่งเด็กๆ ก็สามารถทำได้ ปลูกจิตอาสาให้เกิดขึ้น พร้อมทั้งนำหลักธรรมมาเผยแผ่ปลูกจิตศรัทธาให้เกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันได้ผลเกินคาดที่ได้ตั้งเป้าไว้ อาคารนี้ไว้สำหรับปฏิบัติธรรม ทำวัตรสวดมนต์ สำหรับผู้ที่มากลุ่มขนาดกลางๆ ไม่มากไม่น้อย และเป็นเรือนนอนได้ด้วย
- หอสมุดดิน สร้างจากแนวคิดเดียวกันเป็นโครงการต่อเนื่อง เป็นพื้นที่ไว้สำหรับพักผ่อนอ่านหนังสือ เป็นห้องประชุมเตรียมการอบรมปฏิบัติธรรม
- อาคารเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ชั้นบน เป็นห้องเรียนพระปริยัติธรรม ชั้นล่าง เป็นห้องปฏิบัติการงานพระพุทธศาสนา และแบ่งเป็นห้องนอนสำหรับผู้เข้าร่วมอบรมปฏิบัติธรรม ๒ ห้อง
- อาคารเรือนนอนดิน ๓ หลัง (ใช้งานแล้ว ๒ หลัง อีกหลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง)
- กุฏิไม้สำหรับฆราวาส ๓ หลัง ไว้สำหรับผู้ที่มาปฏิบัติธรรมเป็นครอบครัวหรือเป็นกลุ่มเล็กๆ
- กุฏิสงฆ์ จำนวน ๑๕ หลัง เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงชั้นเดียว ๗ หลัง เป็นอาคาร ๒ ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ หลัง เป็นกุฏิตู้คอนเทนเนอร์ ๒ หลัง เป็นกุฏิดินแฝด ๑ หลัง เป็นกุฏิดินเดี่ยว ๑ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กยกพื้นสูง ๒ หลัง แยกเป็นสัดส่วนชัดเจน อยู่ในเขตเฉพาะ
- กุฏิรับรองแบบบ้านสำเร็จเกาหลี ๑ หลัง (๒ ห้อง)
- หอระฆัง ๑ หลัง สร้างด้วยสแตนเลสทั้งหลัง ระฆังก็เป็นสแตนเลสด้วย
- ห้องน้ำ ๕ ห้อง ๑ หลัง, ห้องน้ำ ๑๐ ห้อง ๑ หลัง, ห้องน้ำ ๑๖ ห้อง ๑ หลัง, อาคารอาบน้ำชาย ๑ หลัง
หมวดที่ ๒ บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในสำนัก
เจ้าสำนัก/อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา และหัวหน้าฝ่ายบริหาร
ชื่อจริง อำพล นามสกุล วณิชย์ธิติกาล ฉายา อพโล
สมณศักดิ์ พระครูสุนทรวัชรการ คุณวุฒิทางโลก ปริญญาโท (พธ.ม.)
คุณวุฒิทางธรรม นักธรรมเอก
ตำแหน่งเจ้าคณะปกครองสงฆ์ เจ้าคณะตำบลหนองหญ้าปล้อง เขต ๒
โทรศัพท์ ๐๘-๙๘๙๑-๘๘๕๔
ผ่านการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ปี พ.ศ. ๒๕๕๔, พ.ศ. ๒๕๕๖, พ.ศ. ๒๕๕๗, พ.ศ. ๒๕๕๙
พระอาจารย์ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา/หัวหน้าแผนกการเงิน และการบัญชี
ชื่อจริง สุทัน นามสกุล ลิขิตขอม ฉายา ทนฺตจิตฺโต
คุณวุฒิทางโลก ปริญญาตรี คุณวุฒิทางธรรม นักธรรมโท
โทรศัพท์ ๐๘-๗๐๕๐-๙๓๘๓
ไม่ผ่านการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ แต่มีประสบการณ์
พระวิปัสสนาจารย์/หัวหน้าโครงการอบรมปฏิบัติธรรมฯ/ และประสานงานกิจกรรมภายในวัด
ชื่อจริง นาวาเรศ นามสกุล บุญคน ฉายา ชินวโร
สมณศักดิ์ เป็นพระใบฎีกา ในฐานานุกรม ของ พระครูวัชรสุวรรณาทร
เจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม (พระอารามหลวง)
คุณวุฒิทางโลก ปริญญาตรี (วท.บ.) คุณวุฒิทางธรรม นักธรรมเอก
เลขานุการเจ้าคณะตำบลหนองหญ้าปล้อง เขต ๒
โทรศัพท์ ๐๘-๘๔๕๖-๗๕๑๓
ผ่านการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ปี พ.ศ. ๒๕๕๔, พ.ศ. ๒๕๕๖
พระวิปัสสนาจารย์/เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และเลขานุการ
ชื่อจริง เด่น นามสกุล จุลณะ ฉายา ปณฑิโต
คุณวุฒิทางโลก ป.๖ คุณวุฒิทางธรรม นักธรรมตรี
โทรศัพท์ ๐๘-๑๑๙๒-๔๙๒๓
ผ่านการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ปี พ.ศ. ๒๕๕๖
พระวิปัสสนาจารย์/เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ และอาคารสถานที่
ชื่อจริง ไชยาสิทธิ์ นามสกุล ดังแสง ฉายา ฐิตสทฺโธ
คุณวุฒิทางโลก ปวช. คุณวุฒิทางธรรม นักธรรมโท
โทรศัพท์ ๐๘-๕๔๒๖-๑๒๐๒
ไม่ผ่านการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ แต่มีประสบการณ์
สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งนี้ มีหลักสูตรการปฏิบัติธรรม ดังนี้
มีหลักสูตรการปฏิบัติธรรม
ก. หลักสูตรการอบรม ๑ วัน
ข. หลักสูตรการอบรม ๓ วัน ๒ คืน
ค. หลักสูตรการอบรมตามอัธยาศัยของผู้ปฏิบัติธรรม
หมวดที่ ๓ การบริหารจัดการ
กิจกรรมที่ทางสำนักจัดเป็นประจำ
-โครงการปฏิบัติธรรมและครอบครัวอบอุ่นด้วยพระธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ
จัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมทุกเสาร์-อาทิตย์สิ้นเดือน และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
-โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติฯ
จัดกิจกรรมอบรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนทุกปี โดยอาศัยความร่วมมือจากโรงเรียน
ผู้นำชุมชน
-โครงการครอบครัวสุขสันต์วันพระปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ
จัดกิจกรรมเจริญพระพุทธมนต์ นั่งสมาธิ บรรยายธรรม ที่บ้านของนักเรียนที่เข้าร่วมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน หลังจากลาสิกขา ในวันพระ ๘ ค่ำ, ๑๔ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปครบทุกบ้าน ทุกคน เริ่มวันพระ ๘ ค่ำ หลังจากวิสาขบูชาในทุกปี
-โครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ (โรงเรียนบ้านลิ้นช้าง)
จัดกิจกรรมอบรมพุธพบพระพาเพลินธรรม พระสงฆ์ไปบรรยายธรรมทุกเช้าวันพุธตลอดปีการศึกษา, กิจกรรมกระจายเสียงธรรมพรุ่งนี้วันพระ พระสงฆ์ และนักเรียนมาจัดดำเนินรายการกระจายเสียงธรรมพรุ่งนี้วันพระร่วมกัน ก่อนวันพระในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ๑ วัน, จัดกิจกรรมครอบครัวอบอุ่นชวนทำบุญเข้าพรรษา โดยให้ผู้ปกครองนักเรียน เป็นผู้นำนักเรียนมาร่วมทำบุญตักบาตร สมาทานศีล ฟังธรรม ทุกวันพระตลอดกาลเข้าพรรษา จัดขึ้นทุกปี
-โครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรม “รถพระธรรมสู่โรงเรียน” เฉลิมพระเกียรติฯ
จัดกิจกรรมอบรมคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียน เขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง ทุกโรงเรียน
ทุกปี
-โครงการมหาชาติ พระเวสสันดรชาดก สอนเด็กในโรงเรียน ปีที่ ๑
จัดกิจกรรมเทศน์มหาชาติ สอนเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านยางน้ำกลัดเหนือ เป็นปีแรก และจะได้ขยายโครงการต่อไป ในทุกโรงเรียน ทุกปี ในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง
-โครงการค่ายจิตอาสา
จัดกิจกรรมอบรมนักเรียนโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต ๑ ทุกปี โดยความร่วมมือของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต ๑
-โครงการค่ายสื่อสร้างสรรค์
จัดกิจกรรมอบรม เรียนรู้เข้าใจในสื่อเทคโนโลยีต่างๆ แก่นักเรียนโรงเรียนบ้านลิ้นช้าง และโรงเรียนบ้านยางน้ำกลัดเหนือ โดยความร่วมมือของโรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี ทุกปี
-โครงการเรียนรู้พึ่งพาตนเองกับบ้านดินไทย
จัดให้วัดเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำบ้านดิน โดยให้ชาวบ้านลิ้นช้างเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่ทางวัดได้จัดขึ้น
-โครงการปลูกต้นไม้ให้แม่ ทำฝายเพื่อพ่อ (ฝายชะลอน้ำ)
จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ทำฝายชะลอน้ำ (ทำความดีถวายในหลวง) โดยให้ อบต.บ้านลิ้นช้าง เป็นแกนนำในการปลูกต้นไม้ ทำฝายในพื้นที่ต้นน้ำ
- จัดกิจกรรมเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติฯ ในวันสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์
จัดกิจกรรมเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติฯ โดยอาศัยความร่วมมือจากโรงเรียน
บ้านลิ้นช้าง และผู้นำชุมชนหมู่บ้านลิ้นช้าง ทุกปี
- จัดพิธี และกิจกรรมทางศาสนา เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จัดพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมถวายพระบรมศพ โดยอาศัยความร่วมมือจากโรงเรียน
บ้านลิ้นช้าง และผู้นำชุมชนหมู่บ้านลิ้นช้าง หน่วยงานราชการอำเภอหนองหญ้าปล้อง
ระเบียบปฏิบัติที่ผู้เข้ารับการอบรมควรทราบ
-ทางวัดห้ามนำสุรา ของมึนเมาทุกชนิด เข้าวัดโดยเด็ดขาด
-ทางวัดห้ามเล่นการพนัน หรือเลียนแบบการพนันทุกชนิด ในวัดอย่างเด็ดขาด