วัด
พระอารามหลวง
14 วัด
วัดราษฎร์
413 วัด
สำนักสงฆ์
8 วัด
ที่พักสงฆ์
18 วัด
วัดร้าง
3 วัด
วัดทั้งหมด
456 วัด
ศาสนบุคคลไทย
พระภิกษุ
256 รูป
สามเณร
33 รูป
แม่ชี
9 รูป
ภิกษุณี
0 รูป
สามเณรี
0 รูป
ศิษย์วัด
0 คน
บุคคลทั่วไปชาย
5 คน
บุคคลทั่วไปหญิง
0 คน
ทั้งหมด
303 รูป/คน
ศาสนบุคคลต่างชาติ
พระภิกษุ
0 รูป
สามเณร
0 รูป
แม่ชี
0 รูป
ภิกษุณี
0 รูป
สามเณรี
0 รูป
ศิษย์วัด
0 คน
บุคคลทั่วไปชาย
0 คน
บุคคลทั่วไปหญิง
0 คน
ทั้งหมด
0 รูป/คน
สถิติสถานภาพพระภิกษุปัจจุบัน
พระบวชใหม่
215 รูป
ลาสิกขา
9 รูป
มรณภาพ
3 รูป
รายชื่อวัด
ที่สามารถเข้าระบบได้ล่าสุด
จ. สุพรรณบุรี
วันที่ 14-03-2567
จ. ราชบุรี
วันที่ 24-02-2567
จ. เชียงราย
วันที่ 13-02-2567
จ. สิงห์บุรี
วันที่ 13-02-2567
จ. พิษณุโลก
วันที่ 13-02-2567
จ. พิจิตร
วันที่ 29-01-2567
จ. อุบลราชธานี
วันที่ 25-01-2567
จ. เชียงราย
วันที่ 13-01-2567
จ. สุพรรณบุรี
วันที่ 15-11-2566
สมาธิมีประโยชน์มากมาย ต้องใช้ให้คุ้มและให้ครบ
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเสด็จหลีกไปจากสำนักของท่านอาฬารดาบสและอุททกดาบส ทั้งที่ได้สมาธิถึงสมาบัติสูงสุด ก็เพราะไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่สมบูรณ์ 

แต่พระองค์ก็มิได้ทรงละทิ้งสมาธิ พระองค์ทรงใช้สมาธิเป็นบาทคือ เป็นเครื่องช่วยหนุนธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติสูงขึ้นไปให้ทำงานได้ผลดีเพราะสภาพจิตที่เป็นสมาธินั้นมีลักษณะที่เป็นคุณสมบัติสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะ 
๑. ทำให้จิตมีกำลัง 
๒. ทำให้จิตใส 
๓. ทำให้จิตสงบ 
ข้อที่ ๓ นี้ทำให้คนติดมากคือ ทำให้จิตสงบแล้วก็สุข แล้วก็เลยติดเพลิน เลยกลายเป็นกล่อมไป 

คุณสมบัติของจิตที่เป็นสมาธินี้ ขอขยายความหน่อยว่า 

๑. ทำให้จิตมีพลัง 

ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่า เหมือนสายธารที่ไหลลงจากภูเขา ซึ่งปิดช่องทางที่น้ำจะแยกกระจายออกไปหมดแล้ว ไหลลงไปทางเดียว ย่อมมีกำลังแรงมาก (องฺ.ปญฺจก.๒๒/๕๑) 

ถ้าจะทำในขณะนี้ ก็เหมือนกับคนขึ้นไปบนยอดเขา เอาน้ำขึ้นไปด้วยถังใหญ่ถังหนึ่ง พอถึงยอดเนินเขาแล้วก็สาดน้ำโครมลงไปอย่างไม่มีทิศทาง น้ำกระจายทั้งถังหายเงียบหมด ไม่เกิดอะไรขึ้น 

ที่นี้เอาใหม่ แบกน้ำถังเท่ากันขึ้นไป แต่คราวนี้เทน้ำถังเท่ากันนั้นลงในร่องในรางหรือในท่อ น้ำไหลไปทางเดียว ก็มีกำลังมากสามารถพัดพาสิ่งที่ขวางหน้า เช่นกิ่งไม้ไปได้ เหมือนกับจิตที่เป็นสมาธิซึ่งแน่วแน่ พุ่งไปทางเดียว ก็มีกำลังมาก 

นี้เป็นคุณสมบัติของจิตที่เป็นสมาธิประการที่หนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก อย่างพวกนักบวชนอกพุทธศาสนาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ชอบเอาจิตที่เป็นสมาธิไปใช้พัฒนาอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่เป็นด้านพลังจิต 

๒. ทำให้จิตใส 

ถ้าเราเอาภาชนะตักน้ำจากบ่อจากสระหรือหลุมน้ำข้างทางที่ขุ่น มีฝุ่นละอองมีดินละลายปนอยู่ข้นคลั่ก มองไม่เห็นอะไรเลย เอาไปตั้งไว้ในที่นิ่งสนิทไม่มีลมพัดไหว และที่นั้นก็มั่นคงไม่หวั่นไหวตั้งอยู่ไม่นาน ตะกอนก็ตกก้นหมด น้ำก็ใสแจ๋ว มีอะไรในน้ำก็มองเห็นชัดเจน 

เปรียบเหมือนกับจิตของเรา ที่ฟุ้งซ่านพล่านอยู่ด้วยอารมณ์ต่างๆ มากมาย เรื่องราวอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นวุ่นวาย บังกันไปบังกันมา มองอะไรไม่ชัดเจน แต่พอเราทำจิตให้เป็นสมาธิ เหลืออารมณ์เดียวที่ต้องการ อารมณ์อื่นตกตะกอนนอนนิ่งหมด จิตก็ใสไม่มีอะไรบัง เราก็มองเห็นสิ่งนั้นชัดเจน 

ฉะนั้น จิตที่เป็นสมาธิจึงเอื้อต่อปัญญา ทำให้มองเห็นตามเป็นจริง ดังพุทธพจน์ที่ว่า สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิจะรู้เข้าใจตามเป็นจริง (สํ.ข.๑๗/๒๗; สํ.สฬ.๑๘/๑๔๗; สํ.ม.๑๙/๑๖๕๔; องฺ.เอกาทสก.๒๔/๒๐๙) 

แต่ไม่ใช่ว่าเกิดสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเองนะ หลายคนเข้าใจผิด ถ้าอย่างนั้น อาฬารดาบสและอุททกดาบส ก็รู้แจ้งสัจจธรรมหมดสิเพราะท่านได้สมาธิสูงลึกซึ้งถึงอรูปฌาน ถ้าเข้าใจว่าได้สมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเอง ก็ไม่ถูก 

จิตที่เป็นสมาธิ เปรียบเหมือนน้ำที่ใส ปัญญาเหมือนนัยน์ตาเมื่อน้ำใส นัยน์ตาก็มองเห็นสิ่งทั้งหลายในน้ำได้ชัด แต่ถึงแม้ว่าน้ำใสแต่ตาไม่มีหรือไม่มอง ก็ไม่เห็นอยู่นั่นเอง 

พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาไว้ ขอยกพุทธพจน์มาให้ดูเอง ดังนี้ 
“ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห้วงน้ำ ที่ใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัวเลย คนตาดียืนอยู่บนฝั่ง ก็จะเห็นได้ แม้ซึ่งหอยโข่ง หอยกาบ แม้ซึ่งก้อนหิน ก้อนกรวด แม้ซึ่งฝูงปลา ที่กำลังแหวกว่ายอยู่ก็ตาม กำลังหยุดอยู่ก็ตาม ในห้วงน้ำนั้น นั่นเพราะเหตุไร? ก็เพราะน้ำไม่ขุ่น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น ด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว ก็จักรู้ได้ซึ่งประโยชน์ตน จักรู้ได้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่นจักรู้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จักประจักษ์แจ้งได้ซึ่งคุณวิเศษล้ำมนุษย์สามัญ กล่าวคือญาณทัสสนะ ที่สามารถทำให้เป็นอริยชน...” 
(องฺ.เอก. ๒๗/๔๐) 

อนึ่ง จิตที่เป็นสมาธิเอื้อต่อการเกิดปัญญา ไม่ใช่ควาหมายความว่าทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาเอง ปัญญาเกิดจากสมาธิได้นั้น เพราะเรามีเรื่องที่คิดพิจารณาหรือมองอยู่แล้ว เราพยายามมองเพ่งพินิจมัน แต่อารมณ์ต่างๆ มันมาบังกัน อารมณ์นั้นบังอารมณ์นี้ ก็เลยไม่เห็นชัดสักที แต่พอจิตเป็นสมาธิ อารมณ์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องว่างหายไป เหลือแต่สิ่งที่ต้องการมอง นี่คือจิตใส เรามองอยู่ก็จึงเห็นสิ่งนั้นชัดเจน 

จะเห็นว่า บางครั้งเราคิดปัญหาบางอย่างอยู่นาน ยังไม่ได้คำตอบ จนเปลี่ยนไปทำอะไรอื่นๆ ต่อมาขณะที่กำลังว่างๆ นั่งสงบในที่บรรยากาศดี บางทีคำตอบในเรื่องนี้ก็ผุดโพลงขึ้นมา นี่เพราะจิตที่คิดอยู่สงบแน่วแน่ลง ก็ใสกระจ่างแจ่มแจ้งขึ้นมานั่นเอง 

๓. ทำให้จิตสงบ 

ข้อนี้ชัดอยู่แล้ว จิตที่เป็นสมาธินั้นตั้งมั่นแน่วแน่อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่ต้องการ เป็นจิตที่อยู่ตัว ลงตัว เข้าที่ สมดุลไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ว้าวุ่น ไม่พล่าน ไม่ขุ่นมัว ไม่เดือดร้อน ไม่มีอะไรกวน ก็ย่อมสงบ และมีความสุข ตอนนี้ถ้าจะพักผ่อน ก็พักผ่อนได้เต็มที่ และถ้าจะติดเพลินก็อยู่ตอนนี้ จึงว่าต้องระวังจะเป็นตัวกล่อม 

ประโยชน์ที่ต้องการของสมาธิอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตนั้นก็เป็น “กัมมนีย์” คือเหมาะแก่งาน ใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพ แล้วแต่จะเอาไปใช้อะไร 

แต่งานสำคัญที่ต้องการในพระพุทธศาสนา ก็คือ งานทางปัญญาเพราะจะบรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนาด้วยปัญญา แต่ปัญญาจะทำงานได้ดี จะมองเห็นชัดเจน ก็ต้องอาศัยจิตที่เป็นสมาธิผ่องใส 

ถ้าเราใช้จิตสมาธิเพื่อประโยชน์ทางปัญญาตามหลักพระพุทธศาสนา คุณสมบัติทั้งสามด้านของจิตสมาธิก็มาเสริมกันเอง ให้ทำงานได้ผลเต็มที่ คือ ลักษณะด้านที่ ๒ เป็นหลัก 

หมายความว่า จิตที่ใสเป็นสมาธิ เอื้อต่อการใช้ปัญญา และเอื้อต่อการมองเห็นด้วยปัญญา แล้วลักษณะที่ ๑ มาช่วย ทำให้จิตนั้นมีกำลังอีก การใช้ปัญญาในจิตที่มีกำลังด้วยก็ยิ่งชัดเจนและเดินหน้า แล้วยังมีลักษณะที่ ๓ ความสงบช่วยด้วย โดยไม่มีอะไรกวน ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้สั่นให้ไหวมายั่วมาล่อออกไป การใช้ปัญญาก็ยิ่งได้ผล 

ดังนั้น ลักษณะของสมาธิ ๓ อย่างนี้ จะต้องใช้ให้ถูกต้อง เมื่อใดรู้ธรรมแจ้งจบแล้ว การใช้ประโยชน์ก็มาอยู่ที่ลักษณะที่ ๓ มาก เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากสมาธิในแง่ที่สองที่จะต้องพัฒนาปัญญา เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว 

เมื่อพระองค์เสด็จไปบำเพ็ญพุทธกิจมาเสร็จแล้ว ก็ทรงพักผ่อนด้วยการเข้าฌาน ดังที่เรียกว่าเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร แปลว่า ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน คือ สำหรับพักผ่อน เป็นการใช้สมาธิในความหมายที่ ๓ แต่พระพุทธเจ้าทรงหลุดพ้นจากกิเลสหมดแล้ว จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทรงติดเพลินสมาธินั้น และไม่มีทางที่จะทรงประมาท 

สำหรับพวกเราทั่วไป ยังต้องระวัง ถ้าติดเพลิน ใช้สมาธิเป็นตัวกล่อม ก็จะกลายเป็นเครื่องฉุดดึงตัวเองไว้ ทำให้ไม่สามารถบรรลุธรรมขัดขวางต่อการพัฒนา จึงได้บอกแต่ต้นว่า ตัวกล่อมนี้ ข้อเสียของมันก็คือ มันทำให้หยุดการพัฒนา มันทำให้เราหยุดอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวต่อไป 

ดังนั้น ชาวพุทธหยุดไม่ได้ ต้องก้าวต่อไป โดยใช้สมาธิเป็นตัวเอื้อ ช่วยเกื้อหนุนให้เดินหน้าไปในไตรสิกขา 

ขอย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องของการกล่อมด้วยการอ้อนวอนเทพเจ้า คนจำนวนมากกล่อมใจตัวเองด้วยเรื่องนี้ จนกระทั่งศาสนาที่มองเห็นว่า มนุษย์จะหลงจมอยู่ด้วยความหวังพึ่ง ไม่พัฒนาต่อไป ก็ต้องใช้อุบายที่จะทำให้มนุษย์เหล่านั้นหรือศาสนิกของตนต้องเพียรพยายามเอาเอง ไม่ใช่รอคอยเทพเจ้าช่วยแล้วมัวนั่งงอมืองอเท้าอยู่อย่างเดียว ก็เลยต้องจำกัดการช่วยว่าจะช่วยอีกนานหลายพันปีข้างหน้า หรือไม่รู้ว่าเมื่อไร ตอนนี้ให้ดิ้นรนช่วยตัวเองไปก่อน หรือบอกว่าพระเจ้าจะช่วยเฉพาะคนที่ช่วยตัวเอง เป็นต้น แล้วแต่วิธีการของศาสนานั้นๆ 

แต่ในพุทธศาสนานี้ ท่านไม่ให้มัวหวังผลอ้อนวอนนอนรอคอยการดลบันดาลอย่างนั้นเลย เพราะสอนหลักให้ทำการด้วยความเพียรซึ่งมีฐานอยู่ในหลักสิกขา ที่มีสาระว่าให้ฝึกฝนพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลาอย่างจริงจังไม่ประมาท เพื่อทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ มีชีวิตที่ปลอดโปร่งโล่งเบา และมีความสุขที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง 
ผู้แต่ง :
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ที่อยู่ :
ต.หนองหญ้าปล้อง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี
จำนวนเข้าดู :
488
ปรับปรุงล่าสุด :
2 มิถุนายน พ.ศ. 2561 09:08:24
ข้อมูลเมื่อ :
2 มิถุนายน พ.ศ. 2561 09:08:24